สารฟอกขาวหรือสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium hydrosulfite)

จากการที่ประเทศไทยได้เปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเราเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายชนิดด้วย จากการตรวจสอบของ อย. พบว่า อาหารบางชนิดที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ผู้ผลิตมีการนำวัตถุเจือปนอาหารมาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร หรือช่วยยืดอายุการเก็บอาหาร ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้กันมาก คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์คืออะไร

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ( Sulphur dioxide ) เป็นสารชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็น สารฟอกขาว ซึ่งสารเคมีชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มซัลไฟต์ มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ใช้เป็นวัตถุกันเสีย ( preservative ) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ช่วยถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร และยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษ สบู่ เป็นต้น

อาหารที่นิยมใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ด้วยคุณประโยชน์ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้มีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ได้แก่

ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ เช่น ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักและผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยม

ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม

ผลิตภัณฑ์แป้ง เช่น เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น แป้ง

อาหารแช่แข็ง

เจลาติน และอื่น ๆ

มาตรฐานการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหาร

การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ดังที่ อย. ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทได้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม หรือกรณีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไวน์ มอก. 2089-2544 ได้กำหนดให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร เป็นต้น สำหรับองค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดค่าความปลอดภัยไว้ คือ ปริมาณที่ได้รับไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน ( ADI : Acceptable Daily Intake )

อันตรายจากการบริโภคซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะมีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย และมีฤทธิ์ทำลายวิตามินบี 1 ด้วย หากร่างกายมีการสะสมสารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืดอาจช็อค หมดสติ และถึงแก่ความตายได้

ข้อแนะนำในการลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอาหาร

สำหรับผู้บริโภคที่สงสัยว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาใช้รับประทานจะมีการใช้ สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินขนาดหรือไม่ ทาง อย. มีวิธีแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารดังกล่าว โดยก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ดอกไม้จีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มักพบว่ามีการใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้บริโภคควรล้างโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านหรือลวกในน้ำเดือดประมาณ 2 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหารทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึงกว่าร้อยละ 90

สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้อบแห้งที่สามารถบริโภคได้เลย เช่น พุทราจีนแห้ง ผลแอปริคอตแห้ง สังเกตได้จากภายนอก โดยไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีจัด เนื่องจากในกระบวนการผลิตผลไม้อบแห้งต้องผ่านความร้อนสูง จึงมีผลทำให้สีสันและเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์เสียไปด้วย แต่ถ้าหากพบผลิตภัณฑ์มีสีสันสวยงามมากผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตอาหารในการช่วยยืดอายุการเก็บอาหาร และช่วยไม่ให้อาหารเปลี่ยนสีเมื่อผ่านความร้อน แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหากผู้ผลิตใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากเกินไป ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำกว่าที่กำหนด สำหรับผู้บริโภคเองควรให้ความสนใจและระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งรู้จักวิธีการลดความเสี่ยงแบบง่าย ๆ ด้วยการล้างน้ำหรือลวกในน้ำเดือด เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ว่า อาหารที่บริโภคมีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

********************************

อ้างอิง: http://www.oryor.com

สุภมาศ วัยอุดมวุฒิ

กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค